20 อุตสาหกรรม ผวาซ้ำรอยหมูเถื่อน นำเข้าทะลัก-ทุบราคาโหด

06 ธันวาคม 2566
20 อุตสาหกรรม ผวาซ้ำรอยหมูเถื่อน นำเข้าทะลัก-ทุบราคาโหด

20 กลุ่มอุตฯ ร้องยังถูกสินค้านอกถล่มตลาดหนัก ทั้งสำแดงเท็จ ไม่มีมาตรฐาน ลอบนำเข้า ขายราคาถูกกว่า 10-20% สภาอุตฯ ผวาซ้ำรอย “หมูเถื่อน” และต้องทยอยปิดตัวตามโรงงานเหล็ก จี้รัฐเร่งแก้ ด้านค้าออนไลน์ สินค้าจีนครองตลาดกว่า 50% ประมงร้อง สัตว์น้ำเพื่อนบ้านทะลัก ทุบราคาร่วง

เป็นกระแสข่าวครึกโครมหลังจากบริษัท โรงงานเหล็กกรุงเทพฯ จำกัด (BISW) ได้ประกาศเลิกจ้างพนักงานกว่า 380 คน ผลจากหลายปีที่ผ่านมาบริษัทมีปัญหาขาดทุนสะสมมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคนในวงการทราบกันดีว่าเป็นผลกระทบหลักจากสินค้าเหล็กราคาถูกจากหลายประเทศ ถูกส่งเข้ามาขายในราคาดัมพ์ตลาด จนเหล็กไทยไม่สามารถแข่งขันได้ ต้องพากันลดกำลังผลิต ซึ่งปัจจุบันแม้กระทรวงพาณิชย์จะต่ออายุการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) ออกไปอีก 5 ปี แต่ก็ช่วยไม่ได้มาก เพราะสินค้าเหล่านี้ใช้วิธีการหลายรูปแบบเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ต้องชำระอากรเอดี

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ยังมีสินค้าราคาถูกที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐานจากต่างประเทศทะลักเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยสินค้าเหล่านี้มีราคาถูกกว่าสินค้าที่ผลิตได้ในประเทศ 10-20% เป็นอย่างน้อย โดยนำเข้ามาทั้งที่ถูกกฎหมาย และไม่ถูกกฎหมายในลักษณะสำแดงเท็จ โดยไม่ต้องเปิดตู้สินค้า เป็นสินค้าที่คุณภาพต่ำ ไม่มีมาตรฐานเพราะไม่ต้องผ่านมาตรฐาน มอก. หรือมาตรฐานใด ๆ ของไทย สุ่มเสี่ยงเรื่องความปลอดภัย

“ที่ได้รับผลกระทบไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมเดียว แต่มีมากกว่า 20 อุตสาหกรรมตามที่เคยเป็นข่าว ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีปัญหาอยู่ ซึ่งจากที่เราได้มีการวิเคราะห์และพูดคุยกัน จะเป็นลักษณะเดียวกับการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน ที่สำแดงเท็จเป็นสินค้าอื่น ใส่ตู้เข้ามาแล้วไม่มีการตรวจสอบ หรือตรวจสอบไม่รัดกุมและปล่อยเล็ดลอดเข้ามาถล่มตลาดในประเทศอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูของไทยเสียหาย และสู้ไม่ไหวจนต้องปิดตัวไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งหมูเถื่อนที่นำเข้ามาจากหลายประเทศ พบส่วนใหญ่สินค้าหมดอายุ เลยเวลาบริโภคแล้ว และเสี่ยงไม่ปลอดภัยจากมีเชื้อโรคปนเปื้อน”

20 กลุ่มอุตฯ ร้องระงม

ทั้งนี้ ส.อ.ท.ได้รับการร้องเรียนความเดือดร้อนจากกรณีดังกล่าว จากสมาชิกมากกว่า 20 อุตสาหกรรมเข้ามาจำนวนมาก จึงอยากให้ผู้ที่รับผิดชอบหรือเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ทั้งด่านศุลกากร ด่านชายแดน และอื่น ๆ ได้กวดขันดูแลการนำเข้าอย่างเข้มข้น เพื่อไม่ให้เล็ดลอดนำเข้ามาได้ รวมทั้งการบังคับหรือตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ต้องผ่านมาตรฐานความปลอดภัย ก่อนนำออกจำหน่ายในกรณีที่นำเข้าสินค้ามาแล้ว ในเรื่องนี้ต้องรีบเร่งเพราะไม่เช่นนั้นสินค้าเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของไทยในด้านการใช้กำลังการผลิตที่ลดลง ด้านยอดขายที่ลดลง และขาดทุนจนแบกภาระไม่ไหว และต้องปิดกิจการดังโรงงานผลิตเหล็กรายล่าสุด

 “ในส่วนของโรงงานผลิตเหล็กที่ปิดตัว เป็นสมาชิกเก่าแก่ของสภาอุตสาหกรรมฯ ที่ต้องปิดเพราะแข่งขันกับเหล็กราคาถูกจากต่างประเทศที่เข้ามาตีตลาดจำนวนมากไม่ไหว ทำให้ขาดทุนสะสมมานาน ดังนั้นถ้าไม่รีบแก้ไขปัญหาตรงนี้ สินค้าราคาถูกที่ไม่ได้มาตรฐานจากต่างประเทศจะทะลักเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในปีหน้าอาจจะมีผู้ประกอบการโรงงานต่าง ๆ ที่สายป่านไม่ยาวพอต้องปิดตัวลงด้วยสาเหตุเดียวกัน และจะทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างหนักในอนาคตได้”

ก่อนหน้านี้ ส.อ.ท.เผยว่า มีอย่างน้อย 20 กลุ่มอุตสาหกรรมสมาชิกจาก 45 กลุ่มของ ส.อ.ท.ที่ได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้าราคาต่ำเข้ามาถล่มตลาด ปัจจุบันผลกระทบก็ยังไม่ได้คลี่คลายลง โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้าขยายตัวมากกว่า 10% ได้แก่ เครื่องจักรกลโลหะการ, เครื่องจักรกลการเกษตร, ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, เฟอร์นิเจอร์, เครื่องมือแพทย์, เคมี, แก้วและกระจก, อาหารและเครื่องดื่ม (เนื้อสัตว์), อัญมณีและเครื่องประดับ, เยื่อและกระดาษ, การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์, ยานยนต์, ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์, ไม้อัด ไม้บาง, เซรามิก,หัตกรรมสร้างสรรค์, หล่อโหละ และเหล็ก ส่วนอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้าที่ขยายตัวระดับ 5-10% ได้แก่ พลาสติก และปิโตรเคมี

สินค้าจีนยึดตลาดออนไลน์

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ TARAD.com กล่าวว่า มีการทะลักเข้ามาของสินค้าจีนผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากการขนส่งสะดวกมากขึ้น นอกจากนี้พ่อค้าแม่ค้าจีน ยังอาศัยช่องทางการค้าเสรีนำสินค้าเข้ามาจำหน่ายโดยไม่เสียภาษี โดยนำสินค้าเข้ามาเก็บไว้ในฟรีโซน ทั้งนี้แม้ว่าภาครัฐ จะมีมาตรการควบคุม โดยนำมาตรฐานอาหารและยา (อย.) หรือมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) เข้ามากำกับดูแล เพื่อควบคุมสินค้าจีนที่ไม่มีมาตรฐานดังกล่าว แต่ปริมาณก็ไม่ได้ลดลง เนื่องจากพ่อค้าแม่ค้าจีน มีการจ้างคนไทยไลฟ์ขายของผ่านช่องทาง TikTok Shop ที่กำลังได้รับความนิยม

การเข้าทะลักเข้ามาของสินค้าจีนในภูมิภาคนี้รุนแรง ในบางประเทศเริ่มมีแอ็คชันป้องกันบ้างแล้ว อย่างในอินโดนีเซีย สินค้าจีนขายผ่าน TikTok Shop มากกว่า 50% รัฐบาลจึงมีมาตรการห้าม TikTok เปิดให้บริการ TikTok Shop ในอินโดนีเซีย แต่สามารถให้บริการได้เฉพาะโซเชียลเท่านั้น ส่วนในไทยคาดว่าสินค้าเกิน 50% ที่ขายบนออนไลน์เป็นสินค้าจีน ซึ่งรัฐจำเป็นต้องมีมาตรการออกมาควบคุม เพราะถือเป็นภัยคุกคามผู้ประกอบการในประเทศ

ด้าน นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นอกจากสินค้าอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้าที่มีคุณภาพและราคาต่ำจากต่างประเทศแล้ว ในส่วนภาคประมงไทยก็ได้รับผลกระทบจากสินค้าสัตว์น้ำนำเข้าที่เพิ่มขึ้นมากอย่างชัดเจนนับตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน เฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มปลาหมึก และปลาสดแช่เย็น แช่แข็ง โดยนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านได้แก่ เมียนมา เวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชา ส่งผลทำให้สัตว์น้ำในประเทศราคาตกต่ำอย่างรุนแรง ชาวประมงออกทำการประมงไม่คุ้มทุนต้องขาดทุนกันเป็นจำนวนมาก


แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.